@ Copyright 2004 : THE VARANEEGUL SCHOOL

กก.คุรุสภาสนอง"ทักษิณ"เลิกค่าใบวิชาชีพ

ขรก.ครูก่อนพ.ร.บ."46ไม่ต้องจ่าย บุคลากร3แสนคนเตรียมรับเงินคืน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม นายเสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาว่า ที่ประชุมได้มีมติให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา แก่ผู้ที่เป็นครูก่อน พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยมอบหมายให้นายจักรพรรดิ วะทา เลขาธิการคุรุสภา ไปปรับแก้ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2547 โดยจะเพิ่มเติมข้อความให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวแก่ผู้ที่เป็นครูก่อน พ.ร.บ.สภาครูฯประกาศใช้ และจะนำเสนอนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามในประกาศดังกล่าว เพื่อให้การยกเว้นมีผลบังคับใช้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างสบายใจทุกฝ่าย

นายเสริมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 300,000 คน ที่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมมาแล้วนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวแล้ว ทางคุรุสภาจะดำเนินการจัดคืนเงินส่งให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาตามจำนวนที่ชำระมา ได้แก่ ครู 500 บาท ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์คนละ 1,000 บาท ซึ่งจากนี้ไปจะต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้วิธีการคืนเงินอย่างไร เพราะมีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก และในระหว่างที่ยังไม่มีการลงนามในประกาศกระทรวงดังกล่าว บุคลากรคนใดที่ยังไม่ได้ยื่นขอมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็ยังต้องยื่นต่อไป และเมื่อมีการลงนามในประกาศกระทรวงแล้วยังต้องมีการยื่นขอมีใบอนุญาตตามเดิม เพียงแต่ไม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียม เพราะหากไม่ยื่นจะมีปัญหาในการขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่จะต้องใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใบเก่ามายื่น
"ส่วนจำนวนวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสนอรัฐบาลเพื่อขอมาชดเชยการยกเว้นดังกล่าวนั้น ทางคุรุสภาจะมีการหารือกันอีกครั้ง ส่วนว่าจะดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ทันภายในวันที่ 8 เมษายน ซึ่งจะครบกำหนด 120 วัน ที่ต้องออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้เสร็จตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2547 หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการลงนามในประกาศกระทรวงของรัฐมนตรีว่าการ ศธ." นายเสริมศักดิ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เสนอให้พิจารณาผ่อนผันให้ผู้ผ่านการสอบคัดเลือกบรรจุครูตามประกาศคณะอนุกรรมการข้าราชการครู สพฐ.ในวิชาเอกคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และภาษาอังกฤษ ที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพครู จำนวน 508 คน ให้สามารถบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูได้ แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพครูภายใน 3 ปี นับตั้งแต่การบรรจุแต่งตั้ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู โดยสามารถยื่นขอมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ด้วย
ด้านนายจักรพรรดิกล่าวว่า ตนจะเร่งรัดจัดทำประกาศ ศธ.ฉบับใหม่เสนอนายอดิศัยได้พิจารณาลงนามโดยเร็ว ส่วนการของบประมาณชดเชยนั้น ตนได้ทำเรื่องเสนอไปที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว และทราบว่าได้มีการเสนอนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบุจำนวนเงินงบประมาณเอาไว้ ซึ่งคงต้องหารือกันอีกครั้ง


ติดประกาศ Friday 04 Mar 05@ 11:42:17 ICT โดย kunkroo

 

"ก.ค.ศ."เผยแนวเกณฑ์ประเมินเข้าสู่วิทยฐานะ

แยกย่อยตามสาขาวิชา เน้นดูจากผลปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินตำแหน่งเพื่อเข้าสู่ระบบวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.กำลังจัดทำรายละเอียดการประเมินตำแหน่งเพื่อเข้าสู่ระบบวิทยฐานะของครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษานิเทศก์ ซึ่งในเบื้องต้นหลักเกณฑ์การประเมินจะแตกต่างจากการประเมินที่ผ่านมาที่จะใช้เกณฑ์ประเมินเดียวกันเกือบทั้งหมดโดยเฉพาะของครูผู้สอนเกณฑ์ประเมินตำแหน่งเข้าสู่วิทยฐานะจะกำหนดเกณฑ์กลางออกมาใช้กับครูสอนทุกสาขาวิชา แต่จะมีเกณฑ์แยกย่อยออกมาในแต่ละสาขาวิชา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และประเมินครูผู้สอนได้ตรงกับสายงานที่ทำ อย่างกรณีครูผู้สอนที่ต้องสอนนักเรียนหลายรายวิชา ก็ต้องหาเกณฑ์ประเมินออกมาว่าจะประเมินรายวิชาไหน

"สำหรับครูที่ต้องสอนวิชาปฏิบัติเป็นหลัก ก็จะต้องมีเกณฑ์ประเมินที่จะต่างกันออกไป ซึ่งจะใช้เกณฑ์ประเมินเดียวกันทั้งหมดไม่ได้ละเกณฑ์ประเมินเข้าสู่วิทยฐานะนี้จะยังเน้นการประเมินที่ผลการปฏิบัติงาน มากกว่าการประเมินจากผลงานทางวิชาการ ซึ่งผมเชื่อว่านอกจากจะเป็นผลดีกับครูแล้ว ยังจะทำให้คณะกรรมการประเมินมีความสะดวกในการลงไปประเมินครูผู้สอนมากกว่าเดิมด้วย ส่วนจะพิจารณาให้ผ่านหรือไม่ผ่านนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับผลงาน ซึ่งอาจจะให้โอกาสสามารถปรับปรุงผลงานได้ด้วย" นายเฉลียวกล่าวนายเฉลียวกล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ชั่วคราว นัดที่ 2 ยังไม่ได้กำหนดวัน เนื่องจากต้องรอดูนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) คนใหม่ จากนั้นคงจะมาพิจารณากันว่าจะประชุมกันอีกเมื่อไร เพื่อพิจารณาร่างกฎกระทรวงฉบับสำคัญๆ ที่จะต้องออกมาเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้ก็ได้เตรียมการไว้แล้ว "